ขิง (ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingibre officinale Rose) เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวซึ่งมีคุณประโยชน์ทางยา โดยใช้เป็นพืชสมุนไพรหรือเครื่องเทศ
ขิงมีลำต้นทั้งใต้ดินและเหนือพื้นดิน ส่วนที่อยู่ใต้ดินเรียกว่าแง่ง (เหง้า) มีลักษณะแข็ง กลม แบน เป็นข้อๆ เนื้อในจะเป็นสีขาวหรือเหลืองอ่อน แง่งขิงหรือลำต้นที่แท้จริงจะแตกแขนงขนานไปกับพื้นดินแผ่ออกแบบนิ้วมือ โดยแง่งอันแรกจะเรียกว่า "แง่งแม่" ซึ่งจะแตกแง่งย่อยต่อๆ กันไป ส่วนลำต้นที่อยู่เหนือพื้นดินเรียกว่า "ลำต้นเทียม" ประกอบด้วยกาบใบที่ซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ ใบยาวเป็นรูปหนาห่อหุ้มลำต้น ขอบใบเรียบ ฐานใบเรียวแหลม มีความกว้างประมาณ 2 ซม. ยาวประมาณ 20 ซม. ก้านช่อดอกยาวประมาณ 20 ซม. ทุกดอกมีกาบสีเขียวปนแดงห่อรองรับ กาบใบจะปิดแน่นเมื่อดอกยังอ่อนและจะบานให้เห็นในภายหลัง ดอกขิงจะมีสีเหลืองอมเขียว
ขิงที่ปลูกในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. ขิงใหญ่ (ขิงหยวก หรือขิงขาว)
เป็นขิงที่มีแง่งใหญ่ ข้อห่าง เนื้อละเอียด ไม่มีเสี้ยนหรือมีน้อยมาก เมื่อปอกเปลือกออกแล้วจะไม่มีสีหรือมีสีเหลืองเรื่อๆ ลักษณะของตาที่ปรากฎบนแง่งจะกลมมน เมื่อเจริญเติบโตเป็นลำต้นและแตกใบจะมีปลายป้านกว่าขิงเล็กและมีลำต้นสูงกว่า
มีรสเผ็ดน้อย เหมาะที่จะปลูกขายเป็นขิงอ่อนในอุตสาหกรรมขิงดองหรือบริโภคสด
2. ขิงใหญ่ (ขิงเผ็ด)
เป็นขิงที่มีแง่งเล็ก สั้น ข้อที่เนื้อมีเสี้ยนมาก เมื่อปอกเปลือกออกจะมีสีน้ำเงินหรือน้ำเงินปนเขียว ลักษณะของตาจะแหลม เมื่อเจริญเติบโตเป็นลำต้นและแตกใบแล้วปลายจะแหลม แง่งแตกแขนงได้ดี
มีรสค่อนข้างเผ็ด ไม่นิยมปลูกขายเป็นขิงอ่อน มักทำเป็นขิงแห้งเพราะให้น้ำหนักดี ใช้เป็นสมุนไพรประกอบยารักษาโรคหรือวิเคราะห์เอาน้ำมัน
ประโยชน์ของขิง
1. ใช้เป็นยาขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้ อาเจียน ไอ หอบ ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ รักษาบิด
2. นำมาปรุงอาหาร หรือใช้เป็นเครื่องเทศ
3. ประโยชน์ทางอุตสาหกรรม เช่นอุตสาหกรรมขิงดองและขิงสด อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม เป็นต้น